ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมากกว่า 10 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีโดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 8,000 คน อัตราการเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 0.1 ของประชากร โรคไตไม่ได้เป็นภาระต่อสุขภาพและจิตใจของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวอีกด้วย บทความนี้จะอธิบายถึงสาเหตุ การวินิจฉัย และการรักษาโรคไตอย่างละเอียด
1. ภาวะไตวายคืออะไร?
ภาวะไตวายคือภาวะที่ไตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยปกติไตทำหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย ภาวะไตวายอาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ภาวะไตวายบางครั้งอาจเกิดขึ้นชั่วคราวและรวดเร็ว (ไตวายเฉียบพลัน) หรืออาจเป็นภาวะเรื้อรัง (ยาวนาน) และแย่ลงเรื่อยๆ
ไตเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณหลังส่วนล่างทั้งสองข้างของกระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ ขับของเสียออกจากร่างกาย และยังมีหน้าที่อื่นๆ เช่น การดูดซึมสารอาหารบางชนิดกลับเข้าสู่ร่างกาย และขับสารที่ไม่จำเป็นออกทางปัสสาวะ
อาการของภาวะไตวายในระยะเริ่มต้นมักจะไม่เฉพาะเจาะจงและพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากไตมีสองข้างและสามารถทำงานทดแทนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากจึงไม่ทราบว่าตนเองป่วย จนึงไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และอาจร้ายแรงถึงชีวิต
2. ประเภทของภาวะไตวาย
ภาวะไตวายแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ไตวายเฉียบพลัน และ ไตวายเรื้อรัง ภาวะไตวายเฉียบพลัน ได้แก่: ก่อนไต, ในไต และหลังไต โรคไตเรื้อรังแบ่งออกเป็น 5 ระยะ: 1, 2, 3 (a และ b), 4, 5; ระยะที่ 5 เรียกอีกอย่างว่าไตวายเรื้อรัง
2.1 ไตวายเฉียบพลัน
ไตวายเฉียบพลันก่อนไต: เกิดขึ้นเมื่อเลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ทำให้ไตไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุอาจเกิดจากการบาดเจ็บ การผ่าตัด หรือโรคต่างๆ อาการที่พบได้บ่อยเช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หมดสติ ไตวายเฉียบพลันก่อนไตสามารถรักษาให้หายได้ หากแพทย์สามารถระบุสาเหตุของการลดลงของเลือดไปเลี้ยงไตได้อย่างถูกต้อง
ไตวายเฉียบพลันที่ไต: อาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ไตโดยตรง เช่น การกระแทกอย่างรุนแรง อุบัติเหตุ นอกจากนี้อาจเกิดจากการที่ไตต้องกรองสารพิษมากเกินไป ภาวะขาดเลือด หรือ ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขาดเลือด เช่น การตกเลือดอย่างรุนแรง ลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไต หรือ ภาวะไตอักเสบเฉียบพลัน …
ภาวะไตวายเฉียบพลันหลังไต: เป็นภาวะที่เกิดจากการหดตัวของหลอดเลือดแดงที่ไต ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อแรงดันที่เพิ่มขึ้นในท่อไต มักมีอาการปัสสาวะไม่ออก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะแบบเฉียบพลัน เช่น นิ่วในท่อไตทั้งสองข้าง ต้นคอทางเดินปัสสาวะอุดตัน ท่อปัสสาวะตีบ เนื้องอก ต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก พยาธิใบไม้ในกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ ภาวะไตวายเฉียบพลันหลังไตยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะอักเสบของไตที่ลุกลาม พังผืดหลังเยื่อบุช่องท้อง และก้อนเนื้อหลังเยื่อบุช่องท้อง โรคและการบาดเจ็บของไขสันหลัง สำหรับการอุดตันของท่อไตข้างเดียวนั้น มักจะเพียงพอที่จะทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันหลังไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้
2.2 ไตวายเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรังพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ในแต่ละบุคคลอาจใช้เวลา 2-5 ปี ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระยะต่างๆ ระยะของโรคไตจะวัดโดยการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบอัตราการกรองของเสียของไต (eGFR) เมื่อไตทำงานลดลง ค่า eGFR จะลดลง ค่า eGFR ยิ่งต่ำบ่งชี้ว่าโรคไตยิ่งรุนแรงขึ้น
3. ระยะของโรคไต
ระยะที่ 1
ค่า eGFR ตั้งแต่ 90 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตรขึ้นไป แสดงว่าไตทำงานได้ดี ในระยะนี้ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชะลอการดำเนินของโรคไตเรื้อรังได้
ระยะที่ 2
ค่า eGFR อยู่ระหว่าง 60-89 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ไตยังคงทำงานได้ค่อนข้างดี แต่อาจตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้โรคดำเนินเร็วขึ้น ในระยะนี้ยังสามารถชะลอการดำเนินโรคได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเลือกรับประทานอาหาร
ระยะที่ 3
ค่า eGFR อยู่ระหว่าง 30-59 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ไตเริ่มทำงานลดลง ค่า eGFR ระยะที่ 3 บ่งชี้ว่าไตไม่ทำงานในระดับประสิทธิภาพที่ยั่งยืน โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 แบ่งออกเป็นสองระยะ: 3A และ 3B ระยะ 3A (ค่า eGFR 45-59 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร) และระยะ 3B (ค่า eGFR 30-44 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร) อาการเริ่มชัดเจนขึ้น เช่น บวม ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะกลางคืน … ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในระยะนี้ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และภาวะโลหิตจาง
ในระยะนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตและนักกำหนดอาหาร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อชะลอการลุกลามของโรคไตเรื้อรัง
ระยะที่ 4
ค่า eGFR อยู่ระหว่าง 15-29 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ในระยะที่ 4 นั้นไตถูกทำลายค่อนข้างมาก ผู้ป่วยมักมีอาการแสดงคล้ายกับระยะที่ 3 ของเสียในร่างกายจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดโรคกระดูก ผู้ป่วยควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินการทำงานของไต และเริ่มเตรียมความพร้อมในการรักษาทดแทนไต
การรักษาวิถีชีวิตที่ดีและการรับประทานอาหารที่เหมาะสมยังคงมีความสำคัญต่อการควบคุมและป้องกันภาวะไตวาย ในเวลาเดียวกัน แพทย์จะสั่งการรักษาที่เหมาะสมเพื่อชะลอความเสียหายของไต
ระยะที่ 5 (ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย)
ค่า eGFR ต่ำกว่า 15 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ป็นตะคริว คัน … ในระยะนี้ การรักษาเพื่อยืดชีวิต ได้แก่ การล้างไตทางช่องท้อง การล้างไตด้วยเครื่อง หรือ การปลูกถ่ายไต แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะที่ 5 เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกรับการรักษาที่เหมาะสมได้
4. อาการของภาวะไตวาย
โดยทั่วไปผู้ป่วยไตวายจะมีอาการบางอย่าง แต่บางคนก็ไม่มีอาการเลย อาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะไตวาย ได้แก่:
- ปัสสาวะออกน้อยลง
- บวมที่ข้อเท้า เท้า
- หอบเหนื่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เจ็บหน้าอก หรือ รู้สึกแน่นหน้าอก
- ง่วงซื้อ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย
- น้ำหนักลด
- คันตามตัว
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว (โดยเฉพาะที่ขา)
- ชัก
- อาการโคม่า
- โลหิตจาง (พบได้น้อย)
อาการของโรคไตเรื้อรังในระยะแรก
อาการของโรคไตเรื้อรังในระยะแรกมักไม่ชัดเจน แม้จะยังรู้สึกแข็งแรงดีอยู่ แต่โรคก็ค่อยๆ ทำลายไตไปเรื่อยๆ อาการของโรคก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับ ปัสสาวะน้อยลง มือเท้าบวม หายใจลำบาก เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น โลหิตจาง โรคหัวใจ ฟอสเฟตในเลือดสูง โพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำคั่งในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การงาน และจิตใจเป็นอย่างมาก
แม้ว่าโรคไตวายและโรคไตเรื้อรังจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยก็ยังสามารถมีชีวิต
ยืนยาวได้โดยไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมากนัก ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อชะลอความรุนแรงของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง (หากมี) ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ ลดหวาน ลดเค็ม ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์งดสูบบุหรี่ ควบคุมความเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยป้องกัโรคไตได้อีกด้วย
5. สาเหตุของโรคไตวาย
โรคไตวายเกิดจากหลายปัจจัย การระบุสาเหตุมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยวินิจฉัยประเภทของโรคไตวาย โดยสาเหตุหลักๆ ได้แก่:
5.1 ปริมาณเลือดไปเลี้ยงไตลดลง
การสูญเสียเลือดไปเลี้ยงไตอย่างกะทันหันอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน สาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ โรคหัวใจ พังผืดในตับหรือภาวะตับวาย แผลไฟไหม้รุนแรง อาการแพ้อย่างรุนแรง การติดเชื้อรุนแรงเช่นการติดเชื้อในกระแสเลือด ยาความดันโลหิตสูงและยาต้านการอักเสบอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปยังไตไม่เพียงพอ
5.2 ปัญหาการขับปัสสาวะ
เมื่อร่างกายไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้ สารพิษจะสะสมและเป็นภาระต่อไต สาเหตุของภาวะนี้ได้แก่ โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก (ในเพศชาย) มะเร็งปากมดลูก (เพศหญิง)
ภาวะอื่นๆ ที่อาจรบกวนการถ่ายปัสสาวะและนำไปสู่ภาวะไตวายเมื่อเวลาผ่านไป ได้แก่: นิ่วในไต ต่อมลูกหมากโต ลิ่มเลือดในทางเดินปัสสาวะ ความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะ …
5.3 สาเหตุอื่นๆ
สาเหตุอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะไตวาย ได้แก่:
- ลิ่มเลือดในหรือรอบๆ ไต
- การติดเชื้อ
- พิษจากโลหะหนัก
- ภาวะหลอดเลือดอักเสบ
- โรคลูปัส
- ภาวะไตอักเสบ
- กลุ่มอาการเลือดแตก เกล็ดเลือดต่ำ ไตวายเฉียบพลัน
- โรคไขกระดูกฝ่อ
- โรคพังผืดแข็ง
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด
- ยาเคมีบำบัดมะเร็งและยารักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองบางชนิด
- สีย้อมที่ใช้ในภาพวินิจฉัย
- ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
6. ภาวะแทรกซ้อนของโรคไตวาย
แม้การล้างไตจะช่วยลดภาระของไตและช่วยให้ไตแข็งแรงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการทำงานของไตได้ทั้งหมด ผู้ป่วยยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดของโรคไตวาย ได้แก่
6.1 ภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจางพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยอาจเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะแรก แต่จะรุนแรงขึ้นในระยะที่ 3-5 สาเหตุของภาวะนี้คือไตมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อไตทำงานไม่ปกติ ร่างกายจะขาดเม็ดเลือดแดง จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
6.2 โรคกระดูกและฟอสเฟตในเลือดสูง
ร่างกายต้องการแคลเซียม วิตามินดี และฟอสฟอรัส เพื่อสร้างกระดูกให้แข็งแรง ไตที่แข็งแรงจะช่วยรักษาระดับของสารอาหารเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่สมดุล แต่เมื่อไตทำงานผิดปกติ ไตจะไม่สามารถขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ซึ่งเป็นอันตรายได้
6.3 โรคหัวใจ
โรคหัวใจและหลอดเลือดกับโรคไตมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และโรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่ล้างไต
เนื่องจากโรคหัวใจจะส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต เลือดที่ไปคั่งที่หัวใจทำให้เกิดแรงดันสะสมในเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับไต อาจนำไปสู่การอุดตันและลดการส่งเลือดไปเลี้ยงไต ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคไต
ในทางกลับกัน เมื่อไตทำงานได้ไม่ดี ระบบฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วยต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงไต ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น นำไปสู่โรคหัวใจ
6.4 โพแทสเซียมในเลือดสูง
โพแทสเซียมพบได้มากในอาหาร มีหน้าที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมถึงกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเต้นของหัวใจและการหายใจ ไตที่แข็งแรงจะขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะเพื่อรักษาระดับโพแทสเซียมในเลือดให้สมดุล
แต่ในผู้ป่วยโรคไต ไตไม่สามารถกำจัดโพแทสเซียมส่วนเกินได้ ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดของภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ได้แก่ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริว หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก …
6.5 ภาวะน้ำคั่งในร่างกาย
ไตที่แข็งแรงจะกำจัดของเหลวส่วนเกินออกจากกระแสเลือด ป้องกันการสะสมของของเหลวซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและปอด และความดันโลหิตสูง โดยผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้น เท้าบวม แพทย์มักจะแนะนำให้จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มและรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ …
7. สุขภาพจิต
โรคไตไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย โดยยิ่งโรครุนแรงมากเท่าไหร่ สุขภาพจิตของผู้ป่วยก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด ได้แก่
- ภาระค่าใช้จ่ายในการล้างไต
- ต้องปฏิบัติตามตารางการล้างไตอย่างเคร่งครัด
- รู้สึกเป็นภาระของคนอื่น
- ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ทานอาหารได้น้อย
- ส่งผลกระทบต่องาน