โรคไตอักเสบเฉียบพลันเป็นโรคทางเดินปัสสาวะชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการต่างๆ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ความดันโลหิตสูงผิดปกติ และการเปลี่ยนแปลงความถี่ในการปัสสาวะ … โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีประวัติ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไตมาก่อน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โรคไตอักเสบเฉียบพลันอาจพัฒนาเป็นโรคไตอักเสบเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่ภาวะไตวายได้
1. โรคไตอักเสบเฉียบพลันคืออะไร?
โรคไตอักเสบเฉียบพลันคือกลุ่มของโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อไต ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกรองเลือด กำจัดของเสีย และน้ำออกจากร่างกาย
ไตประกอบด้วยกลุ่มของเส้นเลือดฝอยที่เรียงตัวกันเป็นกระจุก เรียกว่า โกลเมอรูลัส ซึ่งมีเยื่อบุผนังบางๆ เป็นเครือข่ายที่ซับซ้อนของโปรตีนและเซลล์บุผนังหลอดเลือดชนิดพิเศษที่สร้างเยื่อกรอง โครงสร้างที่รวมกันนี้ช่วยให้ไตสามารถกรองของเสียออกจากเลือดได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อไต ซึ่งประกอบด้วยโกลเมอรูลัสและหลอดเลือด เกิดความเสียหาย นำไปสู่การอักเสบอย่างกะทันหัน การทำงานของไตจะลดลง ส่งผลให้อาจเกิดอาการต่างๆ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด โลหิตจาง ความดันโลหิตสูงหรือบวมน้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไตเกิดความเสียหายจากโรคไตอักเสบเฉียบพลัน แทนที่ไตจะกรองโปรตีนและเซลล์เม็ดเลือดแดงให้อยู่ในเลือด โรคไตอักเสบเฉียบพลันกลับทำให้เม็ดเลือดแดงและโปรตีนรั่วไหลลงไปในปัสสาวะ ส่งผลให้ระดับโปรตีนในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการบวมที่ใบหน้า มือ เท้า และข้อเท้า นอกจากนี้ ร่างกายของผู้ป่วยยังมีของเสียสะสม เนื่องจากไตไม่สามารถกรองของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคไตอักเสบเฉียบพลันมีความหลากหลาย สาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ โรคไตอักเสบเฉียบพลันอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงของความเสียหายต่อไตในระยะยาว
2. อุบัติการณ์ของโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
โรคไตอักเสบเฉียบพลันถือเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้บ่อยทั่วโลก โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีประวัติ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไตอักเสบจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ เด็กอายุ 4-7 ปีเป็นกลุ่มที่พบโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้บ่อย
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถควบคุมและจัดการสุขภาพไตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น การสร้างเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี รบประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและไต และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
3. อาการและสัญญาณของโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
อาการของโรคไตอักเสบเฉียบพลัน นอกจากการสะสมของเสียและสารพิษในร่างกาย ทำให้สุขภาพของผู้ป่วยทรุดปรามลงแล้ว โรคนี้ยังทำให้เกิดอาการทางคลินิกที่สังเกตได้จากปัสสาวะ ความถี่ในการปัสสาวะ และความดันโลหิต โดยอาการของโรคไตอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่:
- ปัสสาวะมีสีน้ำเข้ม ขุ่น หรือมีเลือดปน
- ปัสสาวะเป็นฟอง
- ความต้องการปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
- เกิดอาการบวมน้ำที่ข้อเท้า เปลือกตา
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ความดันโลหิตสูง
- ร่างกายอ่อนเพลีย
ในบรรดาอาการทั้งหมดของโรคไตอักเสบ อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ ปัสสาวะมีสีน้ำเข้ม ขุ่น หรือมีเลือดปน และปัสสาวะเป็นฟอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เลือดและโปรตีนรั่วไหลลงไปในปัสสาวะ เมื่อไตเกิดการอักเสบ โดยเลือดทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำเข้ม ขุ่น หรือเห็นเป็นเลือดอย่างชัดเจน
และโปรตีนทำให้เกิดฟองในปัสสาวะ ดังนั้น เมื่อพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรับการรักษาโรคไตอักเสบเฉียบพลันอย่างถูกต้องต่อไป
4. สาเหตุของโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
4.1. การติดเชื้อ
โรคไตอักเสบหลังการติดเชื้อเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของโรคไตอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ จะมีโอกาสเกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้มากกว่า
เนื่องจากโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ คออักเสบ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้มากขึ้น
โรคติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่:
- ไตอักเสบหลังติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส: โรคต่อมทอนซิลอักเสบ หรือคออักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส
- เยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย:การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจชั้นในและลิ้นหัวใจ
- ไตอักเสบจากเชื้อไวรัส: การติดเชื้อที่ไต มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบ บี หรือ ซี
- เอชไอวี: โรคนี้สามารถทำให้เกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้ ในบางกรณี โรคไตอักเสบเฉียบพลันอาจลุกลามได้รวดเร็วกว่าเอชไอวี
4.2. โรคแพ้ภูมิตัวเอง
เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถแยกแยะสิ่งแปลกปลอมกับเซลล์ของตัวเองได้ อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งโรคเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้
โรคแพ้ภูมิตัวเองที่ควรระวังภาวะแทรกซ้อนของโรคไตอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่:
- โรคลูปัส
- กลุ่มอาการกู๊ดพาสเชอร์ (Goodpasture syndrome)
- โรคไต IgA หรือโรคเบอร์เกอร์ (Berger’s disease)
4.3. โรคหลอดเลือดอักเสบ
โรคหลอดเลือดอักเสบคือภาวะที่หลอดเลือดหนาตัวขึ้น แคบลง หรือมีแผลเป็น เกิดจากการบาดเจ็บของหลอดเลือด โรคนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผนังหลอดเลือด ขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ผลที่ตามมาของโรคหลอดเลือดอักเสบเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้เกิดความเสียหายของอวัยวะภายในและเนื้อเยื่อ
โรคหลอดเลือดอักเสบที่สามารถทำให้เกิดโรคไตอักเสบได้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดอักเสบหลายชนิด และโรคแกรนูโลมาโตซิสพร้อมโรคหลอดเลือดอักเสบ
5. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
สาเหตุของโรคไตอักเสบเฉียบพลันมีหลากหลายสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ จะมีโอกาสเกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้มากกว่าคนทั่วไป ในกรณีนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่ใจสุขภาพและรักษาโรคอย่างทันท่วงที เพราะอาจจะพัฒนาไปสู่โรคไตอักเสบเรื้อรังหรือโรคไตอื่นๆ ที่รุนแรงกว่าได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่:
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต
- เคยป่วยเป็นโรคไตอักเสบ หรือมีประวัติเป็นโรคไต
- มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวาน
- การสัมผัสกับสารพิษ
6. เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
โรคไตอักเสบเฉียบพลันสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตอักเสบเฉียบพลันไปพบแพทย์ทันทีที่ร่างกายเริ่มมีอาการของโรค
การทำเช่นนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่โรคไตอื่นๆ ที่อันตรายกว่า นอกจากนี้ แพทย์จะประเมินจากประวัติของโรคและอาการทางคลินิกของผู้ป่วย เพื่อคาดการณ์การดำเนินโรคของไตอักเสบเฉียบพลัน
ในขณะเดียวกัน แพทย์จะประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับไตหรือสุขภาพทางเดินปัสสาวะที่ผู้ป่วยอาจเผชิญในอนาคต พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ
7. การวินิจฉัยโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
7.1. การตรวจปัสสาวะ
โดยทั่วไปแล้ว โรคไตอักเสบเฉียบพลันสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจปัสสาวะ เนื่องจากไตที่ได้รับความเสียหายจะทำให้มีเลือดและโปรตีนรั่วไหลออกมาในปัสสาวะ ดังนั้น การตรวจปัสสาวะจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
ผลการตรวจปัสสาวะจะแสดงค่าต่างๆ ดังนี้:
- อัตราการกำจัดของเสียที่ถูกกรองโดยไต หรือที่เรียกว่า creatinine
- ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ
- จำนวนเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
- ความเข้มข้นของปัสสาวะ
7.2. การตรวจเลือด
การวินิจฉัยโรคไตอักเสบเฉียบพลันโดยใช้ผลการตรวจเลือด ส่วนใหญ่เพื่อตรวจสอบระดับ creatinine ซึ่งเป็นของเสียที่ถูกกรองโดยไตของผู้ป่วย แพทย์จะใช้ระดับ creatinine ในเลือดเพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคไตอักเสบเฉียบพลันหรือไม่
ผลการตรวจเลือดที่แสดงถึงโรคไตอักเสบเฉียบพลัน:
- ระดับเม็ดเลือดแดงในเลือด
- ระดับ albumin
- ระดับ nitrogen urine ในเลือด
- ระดับ creatinine ในเลือด
7.3. การตัดชิ้นเนื้อไต
การตัดชิ้นเนื้อไตเป็นวิธีการที่ให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรค ในการตัดเนื้อเยื่อไตของผู้ป่วย แพทย์จะใช้เข็มยาวสอดเข้าไปในบริเวณหลังเพื่อไปยังไตและทำการตัดชิ้นเนื้อ
ผู้ป่วยที่มีค่าการตรวจปัสสาวะหรือเลือดผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้ทำการตัดชิ้นเนื้อไตเพื่อวินิจฉัยโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
8. วิธีการรักษาโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
โรคไตอักเสบเฉียบพลันสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคไตอักเสบเฉียบพลันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโภชนาการและพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพเพื่อฟื้นฟูการทำงานของไต วิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วยโรคไตอักเสบที่มีการพยากรณ์โรคที่ดีและมีอาการไม่รุนแรง
ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคไตอักเสบเฉียบพลันมีอาการปัสสาวะลำบากมาก ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันไม่สะดวก สามารถใช้ยาขับปัสสาวะได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับยา รวมถึงแผนการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย
หากโรคไตอักเสบเฉียบพลันเกิดจากการติดเชื้อ ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus ก่อน จากนั้นจึงเริ่มควบคุมอาหาร
9. วิธีป้องกันโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
9.1. การควบคุมอาหาร
การควบคุมอาหารมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการฟื้นฟูและเสริมสร้างสุขภาพไต สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติความดันโลหิตสูง การปรับเปลี่ยนวิธีการกินสามารถช่วยควบคุมโรคได้
โรคไตอักเสบเฉียบพลันสามารถป้องกันได้โดยการดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัดและการดื่มน้ำไม่เพียงพอเป็นหนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต รวมถึงโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
เพื่อป้องกันโรคไตอักเสบเฉียบพลันอย่างได้ผล ผู้ป่วยควรใส่ใจกับการควบคุมอาหารดังนี้
- จำกัดอาหารที่มีรสเค็มจัด หรือมีปริมาณโซเดียมสูง
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป และอาหารกระป๋อง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ควบคุมปริมาณโพแทสเซียมและโปรตีนในอาหาร
- รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อไต เช่น ปลากะพง บรอกโคลี องุ่นแดง กระเทียม บัควีท …
9.2. พฤติกรรมการใช้ชีวิต
การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus เป็นวิธีการป้องกันโรคไตอักเสบเฉียบพลันที่แนะนำให้ปฏิบัติ
คุณสามารถป้องกันโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้โดยการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม ดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจเช็คความดันโลหิตเป็นประจำ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- ป้องกันตนเองขณะมีเพศสัมพันธ์
- รักษาสุขอนามัยของตนเองและสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ